About
Contact Us
© 2020 Contextual Co.,Ltd. All rights reserved
Back To Home
Back To Home

JUDY : ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินที่เข้าใจความลนลานในวันที่ภัยร้ายมาเยือน

ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า Emergency Kit ไม่ใช่ของใหม่อะไร ใคร ๆ ก็ รู้ว่ามันคือกล่องที่ใส่ของจำเป็นหลาย ๆ อย่างเอาไว้ แต่ความจริงแล้ว พอภัยพิบัติมาถึงจริง ๆ ความน่ากลัวของมันกลับไม่ใช่แค่พายุ หรือ น้ำท่วมเท่านั้น แต่มันคือความลนลานของคน ! ไหนจะลืมว่าเก็บกล่องไว้ที่ไหนบ้าง ไหนจะค้นของในกล่องไม่เจอบ้าง ไหนของจะไม่พอใช้ในสถานการณ์จริงบ้าง 
JUDY คือแบรนด์ที่เข้าใจความโลกแตกในวันร้าย ๆ แบบนี้ พวกเขาจึงสร้างชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน ที่ช่วยเตรียมตัวรับพิบัติให้ตั้งแต่ซื้อและยื้อชีวิตได้ถึง 72 ชั่วโมง !
JUDY ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน JUDY ( Photo : JUDY )
ถึงเมืองไทยจะเจอภัยพิบัติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถี่และหนักหนาเท่าประเทศอื่น ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา ที่ต้องเจอมหันตภัยหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ แผ่นดินไหว ไปจนถึง ทอร์นาโด — ตั้งแต่ปี 2010 มีชาวอเมริกัน 310 ล้านคนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ,  มี 57 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างน้อย 5 ครั้ง และ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มี 50 รัฐ ที่ได้ประกาศภัยพิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะแย่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาะโลกร้อน แต่ทว่า 42% ของชาวอเมริกันกลับไม่มีแผนอพยพฉุกเฉิน และมีเพียง 15% เท่านั้นที่มีการจัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินเอาไว้
JUDY มองเห็นความกังวลและความต้องการของคน ทั้งกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจำเป็นต้องซื้ออะไร และกลุ่มที่ต้องการความสะดวกสบาย มองหาของที่ต้องการและจำเป็นครบในคราวเดียว พวกเขาจึงได้ทำชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบครบเซ็ตออกมา แต่เราขอบอกว่า ชุดอุปกรณ์นี้ไม่ใช่ชุดอุปกรณ์ธรรมดาแบบที่เราเคยเห็น เรามาดูกันว่าอะไรคือความพิเศษของชุดอุปกรณ์สีส้มอันนี้กันนะ

ของครบ จบทุกสถานการณ์ ด้วยการออกแบบร่วมกับ นักดับเพลิง ทหาร และนักโภชนาการ

คำถามแรกของการทำชุดอุปกรณ์คือ มันต้องมีอะไรในนั้นบ้าง ? JUDY ไม่ได้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง แต่ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น พนักงาน FEMA ( สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง : Federal Emergency Management Agency),  ทหารผ่านศึกกาชาด และนักดับเพลิง เกี่ยวกับสิ่งที่ควรมีในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการใช้คำแนะนำและประสบการณ์ของคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง ทำให้ JUDY มีของที่ครบและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประสบภัยจริง ๆ โดยใน JUDY แค่ชุดเดียว สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับ, แผ่นดินไหว, ไฟไหม้,  ไฟป่า, หิมะถล่ม, พายุเฮอริเคน, พายุโซนร้อน, พายุทอร์นาโด และอื่น ๆ เลยทีเดียว ! ที่สำคัญคือ ทุกชุดจะต้องช่วยให้ผู้ประสบภัยดำรงชีวิตได้เป็นเวลาอย่างต่ำ 3 วัน ซึ่งน่าจะเพียงพอถึงวันที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้ามาช่วย
รูปแบบหลากหลายตามการใช้งานที่แตกต่าง ( Photo : JUDY )
มากไปกว่านั้น การออกแบบร่วมกับคนหลายหน่วย ทำให้พวกเขาเข้าใจว่า ในสถานการณ์จริงนั้น คนไม่ได้เพียงแค่หลบอยู่ในบ้านเท่านั้น ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ต้องมีการหนี มีการอพยพ ซึ่งไม่เหมาะกับกล่องแบบเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว พวกเขาจึงพัฒนา ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินมาถึง 3 แบบ ตามสถานการณ์และจำนวนคนแบบต่าง ๆ ได้แก่
1. THE SAFE 
ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบกล่อง สำหรับคน 4 คน เซ็ตนี้เป็นมาในรูปแบบกล่องพลาสติกธรรมดา เหมาะกับซื้อเอาไว้อุ่นใจติดบ้าน สำหรับคนที่บ้านไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตที่ต้องอพยพบ่อย และสามารถใช้บ้านเป็น shelter ( ที่หลบภัย ) ได้
ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบกล่อง ( Photo : JUDY )
2. THE MOVER MAX
กระเป๋าเป้ฉุกเฉิน สำหรับการอพยพคน  4 คน พกพาสะดวก เหมาะกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องอพยพบ่อย หรือ นักผจญภัย นักเดินป่าที่ต้องการความอุ่นใจ โดยกระเป๋าเป้นั้นนอกจากจะกันน้ำ และกันการฉีกขาดและการเจาะแล้ว ยังช่วยให้ผู้ใช้เหลือมือที่จะทำกิจกรรมหรือช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
กระเป๋าเป้ฉุกเฉิน ( Photo : JUDY )
3. THE PROTECTOR
กระเป๋าฉุกเฉินแบบมีล้อลาก เหมาะกับคนที่อยู่ในเขตอพยพบ่อย แต่มีสมาชิกในครอบครัวมากถึง 6 คน โดยล้อลากจะช่วยทุ่นแรงและรับน้ำหนักชุดอุปกรณ์ขนาดใหญ่ ไม่ทำให้คนถือเสียพลังงานมากจนเกินไป 
กระเป๋าฉุกเฉินแบบมีล้อลาก ( Photo : JUDY )
นอกจากร่วมมือกับเหล่าทหาร และหน่วยงานทางภัยพิบัติแล้ว JUDY ยังร่วมมือกับ SOS FOOD LAB ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านอาหารสำหรับภัยพิบัติ โดยการเลือกอาหารที่มีรสชาติอร่อย มีสารอาหารครบ มีอายุไขเกินกว่า 5 ปี กินง่าย ไม่เลอะ ไม่ต้องอุ่น และที่สำคัญไม่ทำให้หิวน้ำ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุด JUDY

ของที่เข้าใจ ในวันที่คนลนลาน

นอกจากเข้าใจว่าผู้ประสบภัยจะต้องการอะไรบ้างแล้ว JUDY ยังเข้าใจด้วยว่าคนที่อยู่ในสภาวะวิกฤตเขามีลักษณะเป็นยังไง — ปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดจากชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบเก่า ๆ คือ “ การยัดทุกอย่างไว้รวมกัน ” ซึ่งพอถึงเวลาคอขาดบาดตายที่รอไม่ได้ คนสติกระเจิงก็มักหาของกันไม่ค่อยเจอ จนอาจเกิดอันตรายได้ จากปัญหานี้ JUDY จึงร่วมมือกับบริษัทออกแบบ Red Antler มาออกแบบวิธีการใช้งานของชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน ให้ง่าย มีระเบียบ ไม่สับสน ด้วยการแบ่งประเภท สิ่งของในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินเป็น 6 หมวดหมู่ ได้แก่
1) First Aid
2) Tools เช่น วิทยุมือหมุนที่เป็นทั้งไฟฉายและที่ชาร์จไฟ เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้สามารถใช้วิทยุติดตามข่าวจากสถานีวิทยุท้องถิ่นได้
3) Safety เช่น แท่งเรืองแสง, หน้ากากกันฝุ่น KN95, นกหวีด, Poncho ที่ช่วยปกป้องร่างกายให้แห้งและอบอุ่น
4) Warmth เช่น ผ้าห่ม, เทียนไข
5) Food 
6) Water
โดยแต่ละหมวดหมู่จะมีกล่องย่อยของตนเอง ที่มีตัวอักษร, ภาพประกอบ และฉลากที่มองเห็นชัดเจนและเข้าใจง่าย ซึ่งการมีตัวอักษรใหญ่ ๆ สีตัดชัด ๆ และใช้คำง่าย ๆ นี้ ก็ยิ่งช่วยให้คนหาของในเวลาวิกฤตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น 
แบ่งของเป็นกล่อง ๆ ตามหมวด พร้อมสัญลักษณ์ที่เห็นชัดเจน ( Photo : JUDY )
นอกจากการแบ่งที่เป็นระเบียบนี้ JUDY ยังรู้อีกว่า ถึงจะเตรียมกล่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ถึงเวลาจริง อาจจะลืมได้ว่าเคยเก็บกล่องเอาไว้ตรงไหน เพราะฉะนั้นในชุดฉุกเฉินนี้ จึงมีการแนบ Emergency Card ที่ให้กรอกข้อมูลการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน และแผนการรับมือ เช่น ตำแหน่งที่เก็บ JUDY หรือจุดนัดพบของครอบครัวเมื่อเกิดเหตุ เอาไว้ แถมยังมีแม่เหล็กมาให้ด้วย เพื่อให้สามารถนำ Emergency Card นี้ไปติดไว้ที่ตู้เย็นที่คนเห็นเป็นประจำได้
สติ๊กเกอร์และอุปกรณ์วางแผนเตรียมตัวรับมือ ( Photo : JUDY )

ออกแบบของสำหรับวันน่ากลัว ในรูปแบบที่เป็นมิตร

แม้จะออกแบบของให้เหมาะกับมหันตภัย แต่ JUDY ไม่ได้มองว่า การออกแบบหน้าตารูปลักษณ์ของมัน จะต้องน่ากลัวตามไปด้วย ในขณะที่ชุดอุปกรณ์ทั่วไป มีหน้าตาน่ากลัว ไม่ค่อยสวยงาม ดูแล้วไม่น่านำมาวางไว้ในบ้าน  JUDY เลือก ออกแบบรูปร่างหน้าตาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรมากขึ้น แทนที่จะใช้สีแดง ก็เลือกเฉดสีที่ใกล้เคียงกันคือ สีส้ม " Orange Alert " ที่ดึงดูดความสนใจได้ แต่ไม่ได้ดูเหมือนการเตือนที่น่ากลัว น่าตกใจเกินไป และสีส้มสดใสนี้ก็โดดเด่น ช่วยให้มองเห็นได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือ ท่ามกลางฝูงชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน
รูปแบบกราฟิกและการสื่อสารที่ดูเป็นมิตร ( Photo : JUDY )
มากไปกว่านั้น การตั้งชื่อว่า JUDY ก็ยังมีที่มาและแนวคิดที่น่าสนใจ ชื่อ JUDY มาจากการทดสอบชื่อต่าง  ๆ กว่า 100 ชื่อ และไม่มีชื่อไหนที่จดจำได้ง่ายเลย  จนมาถึง “ จูดี้ ”  ชื่อที่ได้รับความนิยมตั้งให้เด็กในช่วงทศวรรษที่ 1940 ที่แปลว่าในปัจจุบันจะต้องเป็นหญิงสูงอายุแล้ว จึงเป็นชื่อที่ทำให้ทีมรู้สึกถึงความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ จนเลือกมาใช้เป็นชื่อแบรนด์

ในเมื่อภัยพิบัติไม่มีรูปแบบเดียว คำแนะนำก็ต้องไม่มีรูปแบบเดียว

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถึงมีอุปกรณ์ครบ แต่ไม่มีความรู้เอาตัวรอด ก็อาจไม่รอดอยู่ดี พวกเขาจึงทำ JUDY Ready Guide คู่มือการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่บอกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมตัว ไปจนถึงหลังสถานการณ์เรียบร้อยแล้วให้ดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ได้อีกด้วย
JUDY Ready Guide ( Photo : JUDY )
และด้วยความที่สหรัฐอเมริกามีพื้นที่กว้างใหญ่มาก คนในแต่ละพื้นที่จึงมีโอกาสประสบภัยที่แตกต่างกันไป JUDY จึงทำเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ โดยยึดตามเขตของคนในพื้นที่นั้น ๆ เพียงผู้ใช้กรอก “ รหัสไปรษณีย์ ” คำแนะนำที่เหมาะสมกับพื้นที่ก็จะแสดงขึ้นมา
กรอกรหัสไปรษณีย์เพื่อดาวน์โหลดแผนการรับภัยพิบัติที่เหมาะกับเขตตัวเอง ( Photo : JUDY )
นอกจากนี้ พวกเขายังเลือกปลูกฝังการรับมือให้กับคนตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อไม่ให้หวาดกลัวภัยพิบัติจนเกินไป ด้วยการร่วมมือกับชุดหนังสือเด็ก @akidsbookabout ทำหนังสือที่ให้ความรู้เด็ก ๆ ในการรับมือภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ เอาไว้ด้วย รวมถึงจัดทำ  Q&A Seesion ที่เปิดให้ความรู้ให้เข้าไปติดตามได้เรื่อย ๆ โดยวันใด ที่เกิดเหตุร้ายขึ้นมาจริง ๆ พวกเขา ก็ยังมีการแจ้งเตือนตามช่องทางออนไลน์ของ JUDY เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินให้อีกด้วย
กิจกรรม Q&A และ หนังสือให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติกับเด็ก ( Photo : JUDY , @akidsbookabout )
จากทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า JUDY ไม่ได้แค่มีหน้าตาสวยน่าใช้งานเท่านั้น แต่มันฝังไปด้วยแนวคิดการออกแบบต่าง ๆ  ที่คิดมาเป็นอย่างดี และ เข้าใจหัวอกผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง — เห็นแบบนี้แล้วก็อยากซื้อติดบ้านไว้ แต่ในใจก็ภาวนาว่าขออย่าให้ได้เอาออกมาใช้เลย สาธุ
What’s Better

1) เข้าใจว่าคนต้องการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ แต่ไม่รู้ว่าต้องการอะไรบ้างและต้องการความสะดวกสบาย จึงออกชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบ All-in-one ขึ้นมา โดย เลือกออกแบบชุดอุปกรณ์ร่วมกับพนักงานกู้ภัยและคนทำงาน จากหลากหลายหน่วย ทำให้ได้ของที่ครบ และตอบปัญหาแต่ละด้านอย่างแท้จริง อีกทั้งยังออกแบบลักษณะกล่องบรรจุให้สามารถอพยพได้ และเหมาะกับจำนวนคนในบ้าน

2) เข้าใจ insight ของผู้ประสบภัย จึงออกแบบให้ชุดอุปกรณ์นี้ใช้ง่าย และ หาง่ายที่สุด รวมถึงยังออกแบบให้เป็นมิตร ไม่ทำให้คนรู้สึกหวาดกลัวไปตามภัยพิบัติต่าง ๆ

3) ไม่ได้ช่วยแค่เตรียมของให้เท่านั้น แต่มีการให้ข้อมูลการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่หลากหลาย โดยแบ่งตามพื้นที่ ๆ ประสบภัยแตกต่างกัน และปลูกฝังความรู้ให้ตั้งแต่เด็ก ๆ




# emergency kit
# JUDY
# product design
# service design
SHARE NOW :
Posted On 8 Nov 2021