Patagonia เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ แบรนด์ เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์คุณภาพสูงสำหรับกิจกรรม outdoor และในอีกมุมหนึ่งก็เป็น แบรนด์ ที่สายแฟชั่นชอบหยิบจับไป mix & match ในการแต่งตัวให้ดูมีเสน่ห์มากขึ้น ทั้งคุณภาพและสไตล์ก็เป็นที่รู้จักทั่วโลก Better จะพาคุณไปรู้จัก Patagonia ในอีกมุมหนึ่ง ที่มีความตั้งใจและจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม
จากความชื่นชอบการปีนเขา สู่ความรู้สึกผิดและรับผิดชอบต่อธรรมชาติ
อีวอง ชูนาร์ด ( Yvon Chouinard ) หลงรักในการปีนเขาเป็นอย่างมากมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ( นั่นคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 ) ในปี ค.ศ. 1957 เขาไปเรียนรู้วิธีการตีเหล็กและเริ่มทำอุปกรณ์ปีนเขาด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาจากของเดิมที่เขารู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ ปรากฎว่าอุปกรณ์ที่เขาทำขึ้นเองนั้นกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่เพื่อนนักปีนเขา เพราะมันทั้งแข็งแรง เบา และใช้งานได้ดีกว่าเดิม จนกลายเป็นแหล่งขายอุปกรณ์สำหรับปีนเขารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1970 ภายใต้ชื่อ Chouinard Equipment
แต่แล้วเขาก็พบว่า อุปกรณ์ที่เขาทำมันขึ้นมานั้นได้ทำลายธรรมชาติที่เขารัก เพราะการใช้อุปกรณ์จะต้องมีการทั้งเจาะและตอกเข้าไปในก้อนหิน เขาจึงเริ่มต้นพัฒนาอุปกรณ์ปีนเขาใหม่ให้เป็นโช้คอลูมิเนียมที่สามารถตอกด้วยมือ ในปี ค.ศ. 1972 และตั้งแต่นั้นมาก็เป็น การเริ่มต้นของการให้ความสำคัญและสร้างจุดยืนในการรักษ์สิ่งแวดล้อมของ อีวอง ชูนาร์ด
การเกิดขึ้นของ Patagonia
Patagonia ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1973 เพื่อแยกการจำหน่ายเครื่องแต่งกายออกจากอุปกรณ์การปีนเขาให้ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาตั้งใจที่จะมีจุดยืนในการรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย อีวอง เลือกใช้ชื่อ Patagonia เพราะเขาเคยไป Patagonia ( ภูมิภาพที่ตั้งอยู่ปลายใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ) และชื่อนั้นฟังดูมหัศจรรย์ และเป็นเหมือนสถานที่ที่อยู่ในตำนาน
FUN FACT : logo ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Patagonia มาจาก Mount Fitz Roy ภูเขาที่อยู่ในภูมิภาค Patagonia นั่นเอง โดยเป็นการออกแบบร่วมกันของ อีวอง ชูนาร์ด กับ Jocelyn Slack ศิลปินอิสระที่ทำงานให้กับ Patagonia
เมื่อสินค้าขายดี ดันมาเกี่ยวข้องกับการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม
Fleece sweater คือสินค้า signature ของ Patagonia ที่คิดค้น ทดลองหาวัสดุที่ใช่มาแทนการใช้ขนสัตว์ที่ถึงแม้จะอุ่นก็จริง แต่เมื่อเปียกชื้นแล้วจะแห้งยาก ลำบากในการซัก เพราะเส้นใยที่อุ้มน้ำและเสียรูปทรงเมื่อผ่านการซัก แถมยังมีน้ำหนักมากอีกด้วย เขาจึงออกตามหาเส้นใยที่จะมีคุณสมบัติที่เหมือนขนสัตว์แต่แห้งไวและมีน้ำหนักเบา
เขาได้เจอเส้นใยที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ ทำจากอะคริลิค แต่กลิ่นของมันรุนแรงมากจึงยังไม่ได้นำมาใช้ จนสุดท้ายได้เจอกับวัสดุชนิดหนึ่งทำจากโพลีเอสเตอร์ ( polyester ) ที่มีไว้สำหรับนำไปใช้เป็นที่รองฝาชักโครก ดูมีความเป็นไปได้สูงในการนำมาพัฒนาต่อยอด
จนในที่สุดท้าย Patagonia ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเส้นใย Malden Mills ( ปัจจุบันคือ Polartec ) พัฒนาเส้นใยจากโพลีเอสเตอร์ที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงคงทน ให้ความอบอุ่น แห้งไว ตามคุณสมบัติที่ต้องการ แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าขนสัตว์มาก และนั่นทำให้ fleece sweater ของ Patagonia เป็นที่รู้จักและทุกคนก็ตกกลุมรักในความดีงามของมัน
แต่แล้วสิ่งที่ค้นพบและพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง กลับสร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นก็คือ โพลีเอสเตอร์ ผลิตจากน้ำมันดิบ และกลายเป็นว่ายิ่งสินค้าของเขาขายดีเท่าไหร่ เขาก็ใช้โพลีเอสเตอร์มากขึ้นเท่านั้น พวกเขาจึงกลับมานั่งครุ่นคิดอีกครั้งเพื่อหาทางแก้หรือลดปัญหานี้
ในปี ค.ศ. 1993 Patagonia ได้ทำการเปลี่ยนขยะโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากพวกขวดโซดาและพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานต่าง ๆ มาผลิตเป็นเส้นใยแทน จนถึงปัจจุบันก็ยังคงใช้ recycled polyester ในการผลิตสินค้า เช่น เสื้อคลุม, กางเกงขาสั้น, fleece และ Capilene baselayers ( เสื้อและกางเกงที่ใช้สวมด้านในเพื่อให้ความอบอุ่น )
ความเชื่อที่ว่าถ้าสินค้าดีมีคุณภาพ คนก็ไม่ต้องคอยซื้อใหม่ ก็จะไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้นอีกบนโลก
Patagonia เชื่อว่าถ้าผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูง ใช้ได้ยาว ๆ นั่นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคลดความต้องการในการซื้อสินค้าชิ้นใหม่ที่อาจจะไม่จำเป็นลงไป และแน่นอนว่าผู้บริโภคก็มีหน้าที่ที่จะ “ คิดทุกครั้ง ก่อนซื้อ ” ดังนั้นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างต้องรับหน้าที่ของตนเองที่จะรับผิดชอบต่อโลกใบนี้
Don’t Buy This Jacket
คือ แคมเปญ แสนโด่งดังของ Patagonia ที่ออกมาช่วง Black Friday ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยของขาชอปทั้งหลาย ที่จะลุยซื้อของลดราคาโดยที่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากได้ของสิ่งนั้นจริงหรือไม่ มันจำเป็นจริงหรือไม่
แคมเปญ Don’t Buy This Jacket นี้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนของ Patagonia ว่าเขาไม่ได้ต้องการแค่จะทำยอดขาย หรือขายของให้ได้จำนวนมาก แต่อยากทำของที่ดี ที่มีคุณภาพสูงมากพอจนที่คนไม่ต้องมาซื้อชิ้นใหม่หรือมีความต้องการใหม่บ่อย ๆ
Worn Wear บริการที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานของสินค้า Patagonia ให้ยาวนานขึ้น
หากเราสร้างสินค้าที่มีคุณภาพดีและใช้ได้คงทนยาวนานที่สุดแล้ว ต่อไปที่เราจะต้องทำก็คือ การทำให้มันยาวนานได้มากกว่าที่สุดของอายุที่มันจะดูแลตัวเองได้ “ Worn Wear ” จึงถูกคิดขึ้นในปี ค.ศ. 2013 เพื่อทำหน้าที่ในการยืดอายุเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ลูกค้าซื้อไปจาก Patagonia ออกไปให้ได้ยาวนานที่สุด โดยจะมีบริการหลัก ๆ อยู่ 3 แบบ คือ
1 Repair
หากชำรุดเสียหาย อย่าทิ้ง ซ่อมซะก่อน นี่คือปัญหาของคนยุคสมัยนี้ ที่ซ่อมอะไรไม่ค่อยเป็น อะไรพังหรือเสียหายนิดหน่อยก็เลือกที่จะซื้อใหม่ Patagonia จึงคิดบริการที่จะมาช่วยให้การซ่อมเป็นเรื่องง่ายจนคนก็อยากที่จะซ่อมเองมากกว่าซื้อใหม่
www.ifixit.com
platform ที่รวมรวบวิธีการซ่อมสิ่งต่าง ๆ ให้คนมาทั้งแชร์และสืบค้นวิธีซ่อมได้อย่างเต็มที่ เพราะในบางครั้งหากเกิดความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ ลูกค้าก็ไม่อยากจะส่งมาซ่อมให้เสียเวลา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการยังไงให้ถูกวิธี Patagonia จึงได้มีการรวบรวมวิธีการซ่อมเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ของตนเองไว้ให้ที่นี่
Worn Wear Repair Patches
ในกรณีที่เกิดความเสียหายที่หนักหน่อย เช่น ขาด เป็นรู ไม่ว่าจะเป็น เต็นท์, ถุงนอน หรือเสื้อแจ็คเก็ต Patagonia ก็มีแผ่นเทปแบบเหนียว ที่สามารถปิดทับรอยขาดหรือรูเหล่านั้นได้เลย ที่ดีก็คือ แผ่นเหล่านั้นมาในรูปทรงต่าง ๆ ที่เข้ากับสินค้าประเภท outdoor อย่างมาก เช่น รูปหมี, ภูเขา หรือนกเหยี่ยว เป็นต้น ( บางครั้ง ยังไม่มีรูขาดก็ยังน่าเอาไปแปะประดับให้สวยงามเลย )
Repair Center
ลูกค้าสามารถส่งสินค้าที่เสียหายมาซ่อมได้ที่ร้าน Patagonia ( หรือถ้าไม่สะดวกก็ส่งพัสดุไปที่ร้านแทนได้ ) แต่ถ้าหากการชำรุดนั้นยากเกินไป ในแบบที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการซ่อม ก็จะถูกส่งต่อไปที่ Repair Center ที่ Reno, Nevada หรือหากเกินเยียวยา Patagonia จะส่งกลับคืนให้หรือเสนอให้ trade ของชิ้นนั้นได้
Worn Wear Mobile Tour
Worn Wear Mobile Tour ( Photo : Erin Feinblatt )
รถบรรทุกที่บรรทุกอุปกรณ์และช่างซ่อมจาก Repair Center ของ Patagonia ที่จะเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อไปซ่อมแซมเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้ฟรี, ให้คำแนะนำในการดูแลรักษาเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ให้กับคนที่มาใช้บริการ รวมถึงนำสินค้าที่ผ่านการใช้งานจากคนที่มา trade ไปจำหน่ายต่อด้วย
FUN FACT : Worn Wear Mobile รถบรรทุกคันนี้เองก็ยังคงความรักสิ่งแวดล้อม คือ ใช้ไม้ redwood จากถังไวน์ ทำโดยศิลปินและช่างไม้ ชื่อ Jay Nelson
2 Trade in ( Reuse & Resale )
เมื่อคุณซื้อสินค้าของ Patagonia ไปแล้วคุณสามารถนำกลับมา trade ได้หากไม่ต้องการใช้มันแล้ว โดยคุณจะได้รับการ์ดเงินสดที่มีมูลค่าตามราคาประเมินสินค้าที่มาแลก และสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าที่ร้านได้ต่อ
นอกจากนี้สินค้าที่นำมาขายในโปรแกรม Trade in นี้ นอกจากจะเป็นสินค้ามือสองจากลูกค้าแล้วยังมีสินค้าที่มีตำหนิ ( แต่การใช้งานเต็มร้อย ) ของ Patagonia เองอีกด้วย โดย Patagonia เลือกที่จะไม่ทำลายสินค้าชิ้นนั้นหรือปล่อยให้มันเป็นขยะ แต่นำมาขายในราคาพิเศษแทน
3 ReCrafted ( Up cycle )
เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายมาก จนซ่อมไม่ได้ ก็ไม่ได้หายไปไหน ทีม Worn Wear ที่ Repair Center จะคัดแยกเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ แยกประเภทเอาไว้ และส่งไปให้สตูดิโอเย็บผ้า Suay ที่ Los Angeles ให้จัดการแปลงโฉมให้กลายเป็นสินค้าชิ้นใหม่ที่ทำมาจากหลาย ๆ ชิ้นส่วนของ Patagonia ภายใต้ชื่อ ReCrafted Collection
ReCrafted Collection นี้จะมีจำหน่ายที่เว็บไซต์ของ Worn Wear โดยที่สินค้าแต่ละชิ้นแทบจะไม่ซ้ำแบบ ซ้ำสีกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ได้มาแปลงโฉมในแต่ละครั้ง
Innovation isn’t Always visible
แม้หน้าตาเครื่องนุ่งห่มของ Patagonia ไม่ได้หวือหวาอะไร เพราะเน้นความใส่ได้ยาวนาน ไม่มีตกยุค แต่ภายในหน้าตาที่เหมือนเดิมนั้น มีอะไรซ่อนอยู่
การปรับ pattern ( Photo : Kyle Sparks )
ในปี ค.ศ. 2018 Patagonia ได้ปรับการวาง pattern ของการตัดขึ้นรูปเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะเศษผ้าไปได้กว่า 15,000 ปอนด์ และในปี 2020 Patagonia ได้เปลี่ยนไปใช้ฉนวนที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% จาก PrimaLoft ® ที่ได้รับการรับรอง P.U.R.E ™ ( Produced Using Reduced Emissions) ในชื่อ “ Nano Puff ® ”
ปัจจุบัน 84% ของผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปมากกว่า 11 ล้านปอนด์
( Cover Photo : Kyle Sparks )