About
Contact Us
© 2020 Contextual Co.,Ltd. All rights reserved
Back To Home
Back To Home

คุณค่าอยู่ในทุกรายละเอียด ทำไมกระเป๋า Hermès ถึงขายแพงเท่ารถยนต์

Hermès (  แอร์เมส ) เป็นตระกูลช่างฝีมือ ( Artisan ) ของฝรั่งเศสที่ส่งทอดองค์ความรู้และธุรกิจต่อมาถึง 6 generations 
โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1837 จากการทำบังเหียนม้า ซึ่งทำออกมาได้อย่างดี มีคุณภาพสูงจนได้รับรางวัลในงาน Universal Exhibition ในปี ค.ศ. 1867  และได้เริ่มทำอานม้าแบบ made to measure ที่มีความเฉพาะตัวให้แก่ลูกค้าที่สั่ง ทำให้ แบรนด์ มีคุณค่าที่เกิดจากฝีมือและความเข้าใจสัดส่วน ใส่ใจในรายละเอียดของทั้งม้าและคนให้พอดี และเกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการขี่ม้า
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1922 รุ่นของ Emile Hermès เริ่มมีการทำเครื่องหนังอื่น ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ กระเป๋า โดยมีที่มาจากภรรยาของเขาบ่นว่าไม่มีกระเป๋าแบบไหนที่ตรงกับความต้องการของเธอ ปัจจุบัน Hermès เป็น แบรนด์ ที่ทรงคุณค่าและมีชื่อเสียงที่สุดเรื่องงานฝีมือเครื่องหนัง ที่น่าสนใจคือ Hermès ทำอย่างไรให้ งานฝีมือ ยังคงเป็นงานฝีมือได้อยู่ แม้แบรนด์จะขยายไปทั่วโลก และยิ่งไปกว่านั้นคือ สร้างคุณค่าของงานฝีมือเหล่านั้นให้มากกว่าการขายฝีมือที่ปราณีตได้อย่างไร
หากเรามองข้ามการตลาดอันแสนพิเศษเฉพาะตัวของ Hermès อันเลื่องลือในการเลือกลูกค้าที่จะขายให้ การต้องไต่ระดับซื้อของจากชิ้นเล็กก่อนจึงได้สิทธิ์ที่จะซื้อชิ้นใหญ่อย่างกระเป๋าได้ หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้ " Hermès " ดูเป็น แบรนด์ ที่สนใจเฉพาะลูกค้าที่ไม่ได้มีแค่เงิน แต่ยังต้องมีระดับ มีหน้ามีตาในสังคมอีกด้วย
ไม่ว่าจะโดยวางแผนกลยุทธ์หรือเป็นความตั้งใจจริง ๆ ก็ทำให้สินค้าของ Hermès ยิ่งเป็นที่ต้องการขึ้นไปใหญ่ Better เชื่อเหลือเกินว่า Luxury Brand ต่าง ๆ ที่มี " ตำนาน " นั้น เกิดก่อนจะมีวิชาการสร้างแบรนด์ หรือมาก่อนคำว่า branding เสียด้วยซ้ำ การที่ Brandname เหล่านั้นจะมีชื่อเสียงโด่งดังมาได้นั้น ส่วนใหญ่ของชื่อเสียงที่ได้มา เกิดจาก " คุณภาพ " ของตัวผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง 

เราจะพาไปดูกันว่า Hermès สามารถขยายคุณค่างานฝีมือของตนอย่างไร ถึงแม้เป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ก็ยังขายคำว่า “ งานฝีมือ ” ได้อย่างไม่มีข้อกังขา 

Hermès Craftsmanship : All work made by a single artisan

ไม่มีโรงงาน

โต๊ะทำงานของช่างฝีมือ Hermès (Photo : https://www.yatzer.com/tour-inside-ateliers-herm%C3%A8s-pantin-france)
ที่ผลิตเครื่องหนังของ Hermès ไม่ใช่โรงงาน ไม่มีไลน์การผลิตสินค้า แต่สถานที่นั้นเป็นอาคารที่หน้าตาเหมือนอาคารสำนักงานอาคารหนึ่ง ภายในมี " โต๊ะทำงาน " ของพนักงานแต่ละคน ที่หน้าตาเป็นโต๊ะทำงานของศิลปิน มีอุปกรณ์เครื่องหนังต่าง ๆ อยู่ที่โต๊ะแทนคอมพิวเตอร์ พนักงานหนึ่งคนจะทำงานทั้งชิ้นให้เสร็จ จะไม่มีการส่งต่องาน หรือมีการผลิตที่เราคุ้นเคยแบบที่เราเห็นในโรงงานเลยแม้แต่น้อย เมื่อพนักงานมาทำงาน ก็เข้ามานั่งที่โต๊ะและจัดการทำกระเป๋า หรือสินค้าชิ้นอื่น ๆ ของตัวเองไปให้เสร็จตามเป้าหมาย

กว่าจะได้เข้ามาเป็นช่างฝีมือของ Hermès

การฝึกช่างฝีมือ Hermès (Photo : https://www.yatzer.com/tour-inside-ateliers-herm%C3%A8s-pantin-france)
การเข้าทำงานเป็นช่างฝีมือที่ Hermès ได้ เทียบเท่าได้กับการเข้าทำงานที่ Google ของคนสาย tech ถ้าคุณทำงานที่นั่นได้ แปลว่าคุณไม่ใช่ช่างฝีมือธรรมดา แต่คุณต้องเก่งมากเป็น " พิเศษ " เลยล่ะ 
ช่างฝีมือของ Hermès มาจาก Ecole Gregoire Ferrandi สถาบันที่มีชื่อเสียงในการสร้างช่างฝีมือด้านเครื่องหนังแห่งปารีส ( ปัจจุบันคือ La Fabrique École โดยสถาบันมีโครงการฝึกงานที่ทำร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่ง Hermès ก็เป็นหนึ่งในนั้น ) เมื่อใครได้เข้าทำงานที่ Hermès แล้ว ก็ยังต้องผ่านการอบรมช่างฝีมืออีกเป็นเวลาถึง 2 ปี จึงจะได้เริ่มทำงานชิ้นจริง ช่างฝีมือแต่ละคนจะมีอุปกรณ์การทำงานของตนเอง ที่ยังคงเป็นอุปกรณ์แบบเดียวกันกับที่ Hermès ใช้มาแล้วร้อยกว่าปี และการทำงานแต่ละชิ้นอาจใช้เวลานานถึง 48 ชั่วโมง ในการทำให้เสร็จ
FUN FACT : ในช่วงการอบรม 2 ปีนั้น สิ่งที่สำคัญคือการฝึกเย็บ " หูกระเป๋า " ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำกระเป๋าให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งช่างฝีมือบางคนต้องฝึกทำมากกว่าสิบหู จึงจะทำได้สมบูรณ์แบบตามมาตรฐาน Hermès

เทคนิคการเย็บที่เป็นมาตรฐานของ Hermès มีรากมาจากการเย็บอานม้า

Hermès ยังคงใช้วิธีการเย็บแบบดั้งเดิมของตนเอง เรียกว่า Saddle Stitching เป็นการใช้เข็ม 2 เข็มและเย็บด้วยด้ายที่เคลือบด้วยขี้ผึ้งเพื่อกันน้ำ และทำให้มีความเรียบเนียนเป็น 1 เส้น เย็บให้ได้ตะเข็บที่มีขนาดและความตึงเท่ากันทุกตะเข็บ 
วิธีการเย็บนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ในการเย็บอานม้า ทำให้ได้ตะเข็บที่มีความทนทานกว่า หากมีบริเวณไหนที่ด้ายขาด ด้ายบริเวณอื่นจะไม่หลุดไปด้วย และสามารถซ่อมเฉพาะบริเวณที่ขาดได้

การส่งสารของงานฝีผือไปยังลูกค้า ให้ได้รับรู้ถึงคุณค่ากระเป๋า Hermès ได้แม้ไม่เห็นกระบวนการ

Hermès Blind Stamp

เพราะคุณค่าของ Hermès มาจากความแท้ ความดั้งเดิมของงานฝีมือ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งนาน ยิ่งมีคุณค่า Hermès จึงเริ่มมีการประทับตราลงไปบนกระเป๋าที่ผลิตในปี ค.ศ. 1945 เพื่อระบุปีที่ผลิต และระบุตัวช่างฝีมือที่เป็นผู้ทำงานชิ้นนั้น ( ซึ่งใช้ช่างฝีมือ Hermès เพียงคนเดียวเท่านั้นในการทำกระเป๋า 1 ใบ ) นอกจากจะช่วยให้ง่ายต่อการติดตาม เมื่อมีการส่งไปทำความสะอาดหรือซ่อมแซมแล้ว ยังเป็นการบอกออกไปว่า กระเป๋าใบนี้มี Master ของ Hermès ในการตั้งใจทำให้ทีละชิ้น ทีละชิ้น
Hermès ได้สร้างระบบของตราประทับที่ระบุปีที่ผลิตขึ้นมา ด้วยการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 Hermès เริ่มมีการข้ามตัวอักษรบางตัวไป เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
FUN FACT : การเริ่มทำกระเป๋าเครื่องหนังของ Hermès เริ่มขึ้นใน ปี ค.ศ. 1922 แปลว่า ถ้าเจอกระเป๋า Hermès ที่ไม่มีตราประทับ อาจแปลได้ว่านั่นคือ กระเป๋าที่ผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1922 - 1944 หรือไม่ก็คือสินค้าปลอม

Hermès Exterior Stamp

ตราประทับแบบพิเศษที่มักปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ด้านนอกกระเป๋า คือ อีกหนึ่ง Service Evidence ที่จะทำให้คุณค่าของงานฝีมือมีมากขึ้นไปอีก เพราะกระเป๋าของ Hermès มีความพิเศษ ทั้งการสั่งทำขึ้นพิเศษ และหนังที่ใช้ต่าง ๆ สัญลักษณ์เหล่านี้จะช่วยสื่อสารถึงคุณสมบัติหรือสถานะพิเศษของกระเป๋าใบนั้น ๆ อีกด้วย และแน่นอนว่าการทำเป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ ซึ่งยิ่งถ้าหากใครรู้ความหมายของสัญลักษณ์นั่นก็หมายความว่าคุณก็เป็นคนที่รู้จัก แบรนด์ นี้ดีคนหนึ่ง
ตราประทับที่บ่งบอกความเป็นรุ่นพิเศษของกระเป๋า เช่น 
สัญลักษณ์เกือกม้า = งานที่เป็นการสั่งทำโดยเฉพาะ
สัญลักษณ์ดาวตก = งานที่ช่างฝีมือทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นของตนเองโดยเฉพาะ
ตราประทับที่บ่งบอกความเป็นรุ่นพิเศษของกระเป๋า (Photo : https://www.purseblog.com/hermes/hermes-symbols-and-stamps/)
ตราประทับที่ระบุประเภทหนังสัตว์หายาก ( exotic skin ) ที่ใช้ในการทำกระเป๋า
☐ คือ Alligator Mississippiensis
^ คือ Crocodile Porosus
•• คือ Crocodile Niloticus
- คือ Varanus Niloticus Lizard
= คือ Varanus Salvator Lizard
ตราประทับที่ระบุประเภทหนังสัตว์หายาก (Photo : https://www.purseblog.com/hermes/hermes-symbols-and-stamps/)
FUN FACT : ตราประทับชื่อ Hermès นั้น เริ่มมีการเติมคำว่า “ Made in France ” เพิ่มเข้ามาในปี ค.ศ. 1965

Sur-Mesure Atelier ( Made to Measure )

บริการทำสินค้าตามความต้องการของลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่ที่เครื่องหนังเท่านั้น แต่เปิดกว้างไปถึงงานฝีมือที่ทำด้วยมือในแบบฝรั่งเศสที่ลูกค้าต้องการทั้งหมด โดย Hermès จะเลือกเพียงผู้ผลิตที่ “ ดีที่สุด ” มาเป็นผู่ร่วมผลิตกับ Hermès เท่านั้น ซึ่งการรับผลิตสินค้าตามสั่งนี้ ยิ่งทำให้ภาพของคุณค่าของงานฝีมือของ Hermès ชัดเจนขึ้น จนมีภาพของมาตรฐานงานฝีมือของ Hermès เกิดขึ้นในใจลูกค้า
ทุกชิ้นที่สั่งทำใน Sur-Mesure ( Made to Measure ) มีกระบวนการทำงานแบบ เดียวกันกับ Hermès คือ งานแต่ละชิ้นจะได้รับดูแลโดยช่างฝีมือเพียงคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ แต่หากมีงานไหนที่มีเป็นโครงการใหญ่ เช่น ทำ Private Jet ทาง Hermès ก็มีทีมทำงานของตนเองที่พร้อมเข้ามาทำโครงการนั้นร่วมกัน 
FUN FACT : สิ่งที่จะไม่รับทำ คือ 1. การขอให้ทำกระเป๋ารุ่นต่าง ๆ ที่มีการทำเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเหมือนการลัดคิว เพราะ Hermès ยึดหลักทำตามคิว มาก่อน ได้ก่อน ! 2.การขอให้นำกระเป๋ารุ่นนั้นมาผสมกับกระเป๋ารุ่นนี้ เพราะกระเป๋าแต่ละรุ่นถูกคิดและทำออกมาอย่างดีแล้ว ( แต่หากสามารถบอกถึงความต้องการ และวัตถุประสงค์การใช้งานของกระเป๋า Hermès ก็ยินดีที่จะออกแบบอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ความต้องการนั้นให้ได้ )
“ ... เป็นงานฝีมือที่ทำเพื่อให้ตอบคุณค่าในใจที่ลูกค้าต้องการ ... ไม่ควรเรียกว่าของแพง แต่ต้องเรียกว่าของที่มีค่ามาก ”
นวมหนัง Swift calfskin : $ 44,100 = ประมาณ 1,320,221 บาท (Photo : Hermes)
กระเป๋าใส่แอปเปิ้ลทำจากสเตนเลส แพลเลเดียมหุ้มด้วยหนังแกะ พร้อมมีดพกขนาดเล็กด้ามเขาสัตว์ (Photo : Hermeshttps://www.purseblog.com/novelty-bags/hermes-solves-a-fruit-problem-we-didnt-know-we-had/)
ชุดเหยื่อตกปลา : $ 9,450 = ประมาณ 282,900 บาท (Photo : Hermes)
โต๊ะเกมฟุตบอล ทำด้วยไม้เมเปิ้ล ใช้หนัง  Swift calfskin ตัวนักฟุตบอลแต่ละคนแต่ละคนสวมเสื้อผ้าไหมเจอร์ซี่ : $ 68,300 = ประมาณ 2,044,697 บาท (Photo : Hermes)
สเก็ตบอร์ด ทำจากไม้บีชและเมเปิ้ล : $ 2,975 = ประมาณ 89,000 บาท (Photo : Hermes)
ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการตลาด การตั้งราคา นั้นสัมพันธ์กับจำนวนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับของความเป็นงานฝีมืออยู่มาก คือทำได้ครั้งละหนึ่งใบต่อช่างหนึ่งคน และช่างแต่ละคนก็ต้องมีฝีมือมาก ๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เหมือนการผลิตแบบใช้เครื่องจักรที่ถ้าคุณต้องการสินค้าที่มากขึ้นให้พอกับความต้องการ คุณก็แค่ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม แต่ Hermès เลือกที่จะเก็บสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดของ แบรนด์ เอาไว้ก็คือองค์ความรู้ของงานฝีมือที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น ความพิเศษและคุณค่าที่แท้จริงที่เกิดจาก งานฝีมือ แบบไม่มีการใช้ตัวช่วยหรือเครื่องทุ่นแรงใด ๆ เพราะเชื่อว่านั่นคือคุณค่าที่ยังคงอยู่ และมีคุณค่าที่สุดของ แบรนด์
(Cover Photo : Hermès)
# why so expensive
# product design
# branding
# artisan
# french
# luxury brand
# hermes
SHARE NOW :
Posted On 23 Mar 2021